วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

บทความจากท้องถิ่น- เมื่อผมเป็นนายก ตอนที่ 1 บทนำ

บทนำ

     จากความมุ่งมั่นเล็กๆ ราวปลายปี 2552 กลายเป็นกลุ่มการเมืองท้องถิ่นในนาม “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการทุมเทและเสียสละ จนกระทั่งทำให้ได้รับเลือกเข้ามาเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นครั้งแรก และนำพากลุ่มสมาชิกฯ เข้า ๒๑ เสียงด้วยปณิธานที่ว่า “เอาทุกข์อยาก และความลำบากเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เป็นที่ตั้ง” ซึ่งถือได้ว่าเกิดการพลิกผันด้วยคะแนนท่วมท้น ด้วยเพราะเกิดและเติบโตจากที่นี่ทุกก้าวย่าง ทุกหมู่บ้าน ตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอยก็ว่าได้จึงทำให้รู้รสชาติของทุกข์อยากและความลำบากเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งตั้งใจมั่นที่จะนำองค์ความรู้เท่าที่มีเข้ารับใช้และแก้ปัญหาต่างๆที่มีอยู่อย่างมากมายในเวลานั้น
    แต่มันไม่ได้เป็นไปได้โดยง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเรานั้น เป็นองค์กรเกิดใหม่ไม่เหมือนส่วนราชการอื่นๆ เริ่มมาจากสภาตำบลโดย กลุ่มกำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน,ปลัดอำเภอ โดยตำแหน่งเป็นสภาตำบล ข้าราชการส่วนใหญ่ของอบต.บรรจุใหม่เกือบทั้งหมด แม้ว่าภายหลังจะได้รับการยกฐานะเป็น องการบริหารส่วนตำบลหรืออบต.แล้วก็ตาม แต่ปัญหาต่างๆในด้านระบบงานที่ไม่แข็งพอ, ความรู้ความเข้าใจ, วินัยการเงินการคลังที่หละหลวม ที่สำคัญคือวิธีคิด และการประพฤติปฏิบัติที่ผิดๆ ทำให้เกิดปัญหาทับทม  ในด้านการเมืองก้าวก่ายหน้าที่ข้าราชการประจำ, แต่ละส่วนนั้นไม่ทำบทบาทหน้าที่ของตน, อาศัยอำนาจดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่นการนำชาวบ้านรุกป่า, ปักบันแบ่งแยกโดยวิสาสะ, การนำชาวบ้านไปในทางที่ผิด, การสื่อสารกับชาวบ้านไม่ตรงข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่ใส่ใจในแนวนโยบายแห่งรัฐ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้สังคมหมู่บ้านและชุมชนโดยรวมแตกแยก, ขาดความสามัคคี ผู้ที่พอรู้หรือเข้าใจได้ก็สับสน ในด้านของความเป็นอยู่นั้นก็มีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าของชาวบ้าน การทำบ้านขาย(บ้านแดดเดียว) ความคุ้นเคยส่วนใหญ่อยู่กับการได้รับเงินทอง, สิ่งของ, การช่วยเหลือภาครัฐ โดยขาดแรงกระตุ้นในการดูแลและช่วยตนเองก่อน สิ่งต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างมากมายกว่าที่หลายคนคิด เช่นลูกหลานท้องก่อนวัยอันควร, เรียนไม่จบ, ติดยาเสพติด อันเนื่องมาจากผู้ปกครองไม่มีเวลามาดูแลเลี้ยงดูลูกหลาน เพราะต้องไปเฝ้าป่าเพื่อเอาที่ทาง, ต้องเข้าดงตัดไม้ครั้งละหลายๆวัน บ้านช่องผู้คนก็เริ่มรกร้าง สกปรก ขาดการใส่ใจ ผู้คนก็ห่างหายขาดความร่วมมือทั้งในด้านงานของชุมชน และงานบุญฯต่างๆ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นช่องว่างที่ทำให้การเมืองเข้าแทรกได้อีกด้วย จึงเป็นที่มาของนโยบายที่สำคัญคือ "ลำนางรองโมเดล" เพื่อประสานทุกหน่วยงานในพื้นที่ให้โฟกัสมาเพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเป็นอย่างดี
     ในช่วงที่ผ่านมากระผม และคณะผู้บริหารรวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ก็ได้ทุ่มเทมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก โดยด้านนโยบายแล้วก็ได้ให้ความสำคัญกับงบประมาณทางด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ด้านสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อย่างเป็นพิเศษ โดยดูได้จากงบประมาณในแต่ละปีที่เน้นสิ่งเหล่านี้มากกว่างบประมาณเพื่อการลงทุน นอกจากนี้ยังได้ผลักดันให้มีการจัดการเทศน์มหาชาติระดับตำบลขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีของผู้คน สร้างกองทุนสงเคราะห์พระสงฆ์, กองทุนสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสฯ, กองทุนสัจจะวันละบาท, การสร้างกลุ่มชมรมผู้สูงอายุที่เป็นหลักของสังคมให้เป็นผู้นำในงานต่างๆของชุมชน การดูแลชีวิตและความเป็นอยู่โดยการจัดตั้งกองทุน “ฌาปณะกิจสงเคราะห์”ระดับตำบลขึ้น ส่วนหมู่บ้านและชุมชนนั้นก็ได้เน้นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริโดยโครงการ “ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง” และการนำการทำความสะอาดหมู่บ้าน,ชุมชน การช่วยกันดูแลบ้านช่องด้วยโครงการ Big cleaning day  ในทุกหมู่บ้านชุมชน
     ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างของตำบลบ้านเราคือ ที่ผ่านมาขาดการดูแลด้านงบประมาณอย่างเพียงพอจากภาครัฐ ซึ่งแม้แต่การถ่ายโอนภาระกิจต่างๆลงสู่ท้องถิ่นก็เป็นไปอย่างติดๆขัดๆ ซึ่งขัดแย้งกับจำนวนประชากร และขนาดพื้นที่ๆใหญ่โตของตำบลซึ่งใหญ่กว่าบางอำเภอในประเทศไทย ทางฝ่ายบริหารทราบดีเป็นอย่างยิ่งจึงได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการประสานงบประมาณด้านการลงทุนต่างๆ โดยเน้นย้ำตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ๓ปี การรับลูกนโยบายแห่งรัฐ เช่น นโยบายด้านยาเสพติดการประสานงบประมาณด้านลานกีฬา, นโยบายด้านความสมานฉันท์การปกป้องสถาบัน(อสป.) และในด้านต่างๆเช่นกรณีการเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ เช่นภัยแล้ง, วาตภัย, อุทกภัย โดยได้รับงบประมาณในด้านเหล่านี้มาพอสมควรซึ่งก็ได้แบ่งเบาภาระของงบประมาณท้องถิ่นได้อย่างมาก เช่นการซ่อมแซมฝายน้ำล้นขนาดกลางของหมู่บ้าน, การซ่อมแซมบล็อกคอนเวิร์ดข้ามถนนที่ชำรุดจากอุทกภัย, การขุดลอกคูคลองต่างๆ, การซ่อมแซมถนนลูกรัง, ท่อข้ามที่ถูกตัดขาดต่างๆ
        ท้ายนี้ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่น ด้วยสำนึกต่อทุกเม็ดคะแนนเสียงของพี่น้องประชาชน ที่ได้เลือกให้พวกเราได้เข้ามารับใช้ กระผมทั้งกลุ่มทีมงาน และฝ่ายบริหารต้องขอขอบคุณทุกท่านทุกฝ่าย แม้ว่าธรรมชาติของการเมืองท้องถิ่นกับวิถีชีวิตและความเป็นจริงจะไม่ได้ไปในแนวเดียวกันก็ตาม แต่นี่ก็คือสัจจธรรมที่ดำเนินอยู่และจะเป็นไปตราบที่เราเรียกมันว่า"การเมือง"ที่มิได้เอา"ทุกข์ยากและความลำบากเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง" กราบขอบพระคุณครับ.
                                  
                                                                                13 มิถุนายน 2554              
                                                                  สมชาย   นามขยัน