วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ท้ายที่สุดก็เป็นได้แค่นโยบายแบบหว่านแห

 

ท้ายที่สุดก็เป็นได้แค่นโยบายแบบหว่านแห

            หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งไปหมาดๆ หุ้นก็ถูกเทขายสนั่น เกิดอะไรขึ้น ในระยะหลังๆนี้นโยบายพรรคการเมืองดูเหมือนจะเป็นเรื่องหลักที่ทุกพรรคต่างนำมาลดแลกแจกแถมกันสนั่นหวั่นไหว โดยธงหลักของแต่ละพรรคก็เห็นจะคำนวณจากเม็ดคะแนนเสียงเป็นตัวตั้งทำอย่างไรจะได้คะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด ครอบคลุมที่สุด ส่วนทำได้หรือไม่ค่อยว่ากันในทางปฏิบัติ ซึ่งจะสอดคล้องตรงกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ช่างมัน และที่สำคัญก็คิดเองว่าเป็นความจำเป็น เป็นความต้องการ เป็นการเรียกร้องจากประชาชน ถามว่าได้สัมผัสกับชาวบ้านกี่คน ใครเป็นคนคิด เอาเงินไปให้เขาๆก็เอา ไม่เอาซิแปลก นโยบายหาเสียงอย่างนี้เขาเรียกว่า ตอบอะไรก็ได้แล้วค่อยไปตั้งโจทย์ หรือนโยบายแบบ “จิกซอ” วางอย่างไรเรื่องของข้า จะเห็นเป็นภาพหรือเปล่าช่างมัน

            ผมทำงานกับท้องถิ่นมาพอสมควรสิ่งที่เป็นอยู่คือ ท้องถิ่นเป็นแค่ทางผ่านงบประมาณของหลายๆหน่วยงาน ซึ่งก็มีแนวทาง ระเบียบ และหลักการใช้งบประมาณที่ต่างกันออกไป ไม่ได้บูรณาการร่วมกันอย่างแท้จริงนอกจากปัญหาข้างต้นแล้วก็อาจเกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ หรือการยอมรับให้ท้องถิ่นเป็นแนวหน้าขับเคลื่อนคงทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายบัญชาการแนวดิ่งนั้นเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง นี่คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่การบูรณาการไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

            ประเด็นนโยบายแบบหว่านแหนั้นแม้จะมีความเข้าใจและเห็นใจในฐานะนักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งเหมือนกัน เท่าที่นั่งดูมานานก็เห็นว่าไอ้ที่ตรงจริงๆมีไม่ถึงครึ่งแต่ที่สร้างภาระและปัญหาให้กับประเทศในระยะยาวนี่ซิควรจะคิดให้หนักๆ ไม่ว่าจะเป็นภาระการเงินการคลังของประเทศ ภาระภาษีประชาชน ภาระประชาชนในแง่ของการแบมือเรียกร้องจากรัฐโดยที่รัฐไม่ได้มีการคำนึงถึงปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งในเชิงโครงสร้าง และปัจจัยที่เอื่อให้ประชาชนเข้มแข็ง ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง แม้ว่าวันนี้ท่านอาจชนะเลือกตั้ง แต่จะอีกกี่ครั้งละที่ลดแลกแจกแถมแล้วยังไม่ได้เข้ามาหรือว่าจะใช้วิธีขู่ลงถนนทุกครั้งไป