วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ช้างป่ากับชีวิตประชาชน

 ช้างป่า กับชีวิตประชาชน

    องค์การบริหารส่วนตำบลลำนางรองมีพื้นที่โดยประมาณ 271.9 ตารางกิโลเมตร พื้นที่อาศัยประมาณ 37.5 ตารางกิโลเมตร มีทั้งหมด 15 หมู่บ้าน ประชากรหมื่นกว่า มีการกระจายตัวของหมู่บ้านชุมชนอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ละ กลุ่มบ้านห่างกัน ทั้งหมดตั้งอยู่บนป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งทางทิศใต้เป็นอุทยานแห่งชาติตาพระยา ทางทิศตะวันออกเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามทิศตะวันตกเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตัวอำเภอเองก็ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งหมดที่ว่านี้มีพรบที่เกี่ยวข้อง หลายฉบับ
     ในห้วงที่ผ่านมาหลายปี มีสัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้าง ทำร้ายประชาชนจนเกิดการสูญเสีย และบาดเจ็บ ซึ่งก็มีเหตุผลมาจาก การทำมาหากิน รุกล้ำเข้าไปเขตป่าและการที่สัตว์ ออกหาอาหารใน เขตหมู่บ้าน ชุมชนที่ติดป่า และรวมทั้งปัญหาประชากรช้างที่มีจำนวนมากขึ้น ทุกปี ยังขาด การบริหารจัดการที่ดีพอ เพราะบุคลากรที่รับผิดชอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีอัตรากำลังและงบประมาณที่จำกัดเต็มที ที่ผ่านมาก็มีเสียชีวิต ราว 18 ราย บางปีก็หลายราย บางปีก็น้อยราย แต่ปัญหาอยู่ที่ ใครจะชดเชย ท้องถิ่นก็ช่วยดูแลส่วนหนึ่งในเรื่องของพืชผลทางการเกษตร ตามกรอบ อำนาจหน้าที่บางพื้นที่รุกล้ำไปในเขตป่าก็ไม่สามารถจ่ายได้ ส่วนค่าตอบแทนการเสียชีวิตไม่ต้องพูดถึง ทำได้ยากยิ่ง เพราะเหตุว่า พรบ. ป่าไม้ เขาก็ออกแบบมา ให้รองรับกับบทบาทหน้าที่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ก็ในเมื่อถูกตัดเย็บออกมา สำหรับเขา สำหรับการทำงาน ของเขา มันจึงไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เมื่อเกิดการสูญเสีย
     ที่ผ่านมา กฎหมายหรือพรบที่เกี่ยวข้อง ที่ให้อำนาจท้องถิ่น แบบจริงจังนั้นแทบไม่มี เราพูดถึงพรบกระจายอำนาจ แต่พอเข้าไปดูในแต่ละหัวข้อ ก็จะมีพรบเฉพาะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก บางอย่างเกินศักยภาพบางอย่างต้องรอกลไกคำสั่ง ในบทบาทของท้องถิ่นนั้นจะต่างจากหน่วยงานอื่น เพราะ ท้องถิ่น เอาทุกข์ยากความลำบากเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง แล้วค่อยไปดูข้อจำกัดด้านกฎหมายและบทบาทหน้าที่ บางครั้งท้องถิ่นมีงบประมาณที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องยอมรับว่า เมืองไทย มีหลายหน่วยงานองค์กร กฎหมายถูกออกแบบ ให้มีลักษณะเฉพาะ หรืออำนาจ ในแนวดิ่ง เมื่อมาถึงระดับล่าง มันจึงใช้ไม่ได้ผลจริงแม้จะพยายามบูรณาการแล้วก็ตาม คงอาศัยได้เพียงหาช่องไปเท่านั้น
     หากจะแก้ปัญหาคนกับป่า ปัญหาช้าง หรือสัตว์ป่าทำร้ายผู้คน คงต้องเป็น มติ ระดับครม ตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง หลายส่วนทีเดียว เป้าหมายปลายทางก็คือ การ แก้ไขปัญหาดังกล่าว หรือเอา output เป็นตัวตั้ง แล้ว ติดขัด หลายพ.ร.บนั้น ต้องหาทางออก ทั้งในแง่ วิชาการ ในแง่ของ Big Data ในแง่ของ วิถีชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ระเบียบกรมบัญชีกลางเรื่องการเบิกจ่าย พรบสัตว์ป่าและพันธุ์พืชพ.ร.บป่าไม้ พรบ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พรบการกระจายอำนาจ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้ว ค่อยโยงมา สู่การตั้งงบประมาณภารกิจที่เกี่ยวข้อง การติด GPS การ สร้าง App เพื่อให้ผู้ใหญ่ ผู้นำชุมชนได้รู้ความเคลื่อนไหวแจ้งเตือน ก่อนความเสียหายจะเกิดขึ้น หรือชีวิตของอาสาป้องกัน ช้าง ไม่เพียงแต่เรื่องของค่าจัดการศพแต่สวัสดิภาพสวัสดิการมีแค่ไหนอย่างไร ท้ายที่สุดทุกฝ่ายคงต้องยืนอยู่บน ข้อมูลพื้นฐานร่วมกัน วิถีชุมชน ที่คนกับป่า เคยอาศัยเกื้อกูลกัน อย่างสอดคล้องต้องกลับคืนมา เป็นสำคัญให้ได้ ขอเถอะครับ สิ่งที่จะเอื้อเกื้อกูลต่อทุกข์ยากความลำบากของพี่น้องประชาชนสั่งตัดได้ก็ทำเถอะครับ ตัดเย็บให้พวกเขา ให้สมกับที่ ท่านได้อาสาเข้ามา ช่วยเหลือประชาชนแล้ว